ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354 - 2355 ของ ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354

กบฏของนักองค์สงวนที่เมืองโพธิสัตว์

เหงียนวันถว่าย (Nguyễn Văn Thoại) หรือ ถว่ายหง็อกเห่า (Thoại Ngọc hầu) ดำรงตำแหน่งเป็น "เบาฮอ" หรือข้าหลวงของญวนประจำกัมพูชา มีศาลสำหรับบูชาถว่ายหง็อกเห่าที่เขานุ้ยซัม (núi Sam) ใกล้กับเมืองห่าเตียน

เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2354 พระมหาอุปโยราชนักองค์สงวน เสด็จออกผนวชไปประทับอยู่กับพระมหาสังฆราชา (พระธรรมวิปัสสนา)[1] พระภิกษุที่ได้รับความนับถือจากพระราชวงศ์กัมพูชา ที่เขาพระราชทรัพย์ ในเดือนธันวาคม พระองค์แก้วเจ้าชายเขมรสิ้นพระชนม์ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2355 พระมหาอุปโยราชนักองค์สงวนลาผนวชออกแล้ว เสด็จออกจากเมืองอุดงบันทายเพชร ในเวลากลางคืน เพื่อไปจัดแต่งงานศพพระองค์แก้ว ขุนนางเขมรรวมทั้งสิ้นเจ็ดคนมารับแห่งนักองค์สงวนไปประทับที่เมืองโพธิสัตว์ พระอุไทยราชานิมนต์ส่งพระมหาสังฆราชออกไปเชิญนักองค์สงวนกลับมาเองอุดง[1] นักองค์สงวนไม่กลับมา พระอุไทยราชาส่งขุนนางกลุ่มหนึ่งไปเชื้อเชิญให้นักองค์สงวนกลับมา นักองค์สงวนกลับยึดตัวขุนนางเหล่านั้นไว้หมด พระอุไทยราชาจึงส่งพระยาบวรนายก (สวด) ไปขอความช่วยเหลือจาก"องลิวกิน"เหงียนวันเญินเจ้าเมืองไซ่ง่อน เหงียนวันเญินจึงให้"องเจิงเคญเทือง"เหงียนวันถว่าย (Nguyễn Văn Thoại, 阮文瑞) นำทัพเรือ 500 คน[1] พร้อมทั้งเรือแง่โอเรือแง่ทราย มาตั้งอยู่ที่เกาะจีนเมืองละแวกอีกครั้ง

กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์มีพระบัณฑูรให้พระยายมราช (ควร) ขุนนางเขมรออกมาช่วยงานศพพระองค์แก้ว พระยายมราช (ควร) มาพบกับนักองค์สงวนที่เมืองโพธิสัตว์ นักองค์สงวนฝากข้อความแก่พระยายมราช (ควร) กราบทูลขอพระราชทานเมืองตะขร้อ เมืองขลุง และเมืองตรอง[1] ให้แก่นักองค์สงวนแยกมาปกครองเอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชดำริว่า นักองค์จันทร์และนักองค์สงวนวิวาทกันจนเป็นเหตุให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น จะมีศุภอักษรออกไปให้สมานสามัคคีกันดังเดิมคงไม่เพียงพอ[6] ต้องมีกองทัพไปควบคุมสถานการณ์ด้วย จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยายมราช (น้อย บุณยรัตพันธุ์) ยกทัพออกไปสมทบกับพระยาพิไชยรณฤทธิ์และพระยารองเมืองฯที่เมืองพระตะบองในเดือนมีนาคม

การรบที่กำปงชนัง

ในเดือนเมษายน องเชืองเกิญเทือง เหงียนวันถว่าย ให้องจันกว้าง[1]ไปเมืองพระตะบอง พระมหาอุปโยราช (นักองค์สงวน) จับตัวองจันกว้างไว้เสีย และนักองค์สงวนยังส่งกองกำลังไปโจมตีเมืองพนมเปญอีกด้วย สมเด็จพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ เสด็จออกจากเมืองอุดงไปประทับที่ค่ายโพโตกเพื่อเตรียมการรับมือทัพสยาม มีพระราชโองการให้พระยาสังคโลก พระยาเอกราช (แทน) พระยาเพชรเดโชเจ้าเมืองลาดปะเอีย มาตั้งทัพที่เมืองริวิฉนาก[6] ให้พระยาโยธาสงคราม (มา) อยู่ตั้งรักษาที่เมืองกำปงชนัง โดยมีพระยาธรรมเดโช (มัน) เป็นแม่ทัพใหญ่ทางเรือ[1] และให้พระยายมราช (คง) คอยลาดตระเวณ

เจ้าพระยายมราช (น้อย) เกรงว่า หากยกทัพสยามจากพระตะบองลงไปจะทำให้นักองค์จันทร์ตื่นตระหนกตกใจ จึงให้พระยารองเมืองฯถือหนังสือลงไปถวายพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ที่เมืองอุดงแจ้งความให้ทราบก่อน แต่นักองค์จันทร์กลับนิ่งเฉยไม่ตอบ เจ้าพระยายมราชส่งพระภักดีนุชิตถือหนังสือลงไปอีกครั้งหนึ่ง แต่พระภักดีนุชิตถูกพระยายมราช (คง) และพระยาเพชรเดโชยึดสาสน์และคุมตัวไว้ที่เมืองริวิฉนาก เจ้าพระยายมราช (น้อย) เห็นว่า พระอุไทยราชานักองค์จันทร์กษัตริย์กัมพูชาดูหมิ่นสยามสิ้นยำเกรง[6] จึงยกทัพลงไปจากเมืองพระตะบอง

ในเดือนเมษายน เจ้าพระยายมราช (น้อย) พระยารองเมืองฯ พระยายมราช (ควร) พระยาจักรี (เชด) และพระวิเศษสุนทร (รศ) ยกทัพจำนวน 3,000[1] คน ออกจากเมืองพระตะบองมาถึงเมืองโพธิสัตว์ แล้วแห่นักองค์สงวนออกมาจากเมืองโพธิสัตว์ ยกทัพเข้าตีเมืองกำพงชะนัง นำไปสู่การรบที่กำปงชนัง ในขณะที่พระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพเรือยกทัพจำนวน 2,000[1] คน มาทางเรือ พระยาธรรมเดโช (มัน) พระยาโยธาสงคราม (มา) และพระยาบวรนายก (สวด) ป้องกันเมืองกำพงชะนัง ฝ่ายกัมพูชายิงปืนเข้าใส่กองเรือเสบียงฝ่ายสยามของพระยาสุรสงคราม แต่พระยาสุรสงครามไม่ตอบโต้[6] ฝ่ายไทยปล่อยองจันกว้างออกมา แจ้งแก่ฝ่ายเขมรว่า ครั้งนี้กองทัพไทยมาจำนวนมาก บรรดาขุนนางกัมพูชาที่กำพงชนังจึงให้พระมนตรีสงครามลงเรือพายไปกราบทูลพระอุไทยราชานักองค์จันทร์ที่โพโตก ว่าครั้งนี้สยามยกมาเป็นจำนวนมากเห็นเกินจะรับไหว[6] พระอุไทยราชานักองค์จันทร์จึงเสด็จพร้อมทั้งพระราชวงศ์และบรรดาขุนนางลงเรือพระที่นั่งไปพนมเปญ

นักองค์จันทร์ลี้ภัยไปไซ่ง่อน

"องเจิงเคญเทือง"เหงียนวันถว่ายเตรียมเรือมารับนักองค์จันทร์และพระราชวงศ์กัมพูชาที่เมืองพนมเปญ[1] นักองค์อิ่มและนักองค์ด้วงปรึกษากันว่าหากเสด็จหนีตามนักองค์จันทร์ไปเวียดนามก็จะเป็นกบฏไปด้วย[6] นักองค์อิ่มและนักองค์ด้วงจึงเสด็จหนีจากเมืองพนมเปญไปหาฝ่ายไทย ฝ่ายญวนและฝ่ายนักองค์จันทร์ส่งกำลังออกติดตามนักองค์อิ่มและนักองค์ด้วงแต่ไม่ทัน เหงียนวันเญินเจ้าเมืองไซ่ง่อนส่งขุนนางมากราบทูลเชิญนักองค์จันทร์ไปประทับที่ไซ่ง่อนหรือเมืองบันแง[1] พระยาสุรสงครามนำกองเรือเดินทางถึงค่ายโพโตกเมืองอุดง ทราบว่าพระอุไทยราชานักองค์จันทร์หลบหนีไปพนมเปญแล้ว นำกองเรือไปตามนักองค์จันทร์แต่ไม่ทัน พบเพียงแต่ราษฎรชาวเขมรสับสนวุ่นวายอยู่ จึงป่าวประกาศให้กลับมาอยู่บ้านเรือนตามเดิม เจ้าพระยายมราชเมื่อมาถึงเมืองอุดงบันทายเพชรทราบว่านักองค์จันทร์เสด็จหลบหนีไปถึงเมืองไซ่ง่อนแล้ว จึงมีหนังสือถึงเจ้าเมืองไซ่ง่อนและนักองค์จันทร์ ชี้แจงว่าฝ่ายสยามยกทัพลงมาครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อทำสงครามแต่เพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างนักองค์จันทร์และนักองค์สงวน แต่นักองค์จันทร์และเจ้าเมืองไซ่ง่อนนิ่งเสียไม่ตอบ[6] นักองค์อิ่มและนักองค์ด้วงเสด็จหนีจากนักองค์จันทร์มาถึงเมืองอุดงประทับอยู่กับนักองค์สงวน

เหงียนวันเญินเจ้าเมืองไซ่ง่อน สร้างตำหนักที่ประทับที่เมืองไซ่ง่อนถวายให้พระอุไทยราชานักองค์จันทร์ และยังถวายเงินอีแปะพันพวงข้าวสารพันถัง พระอุไทยราชาให้พระยาบวรนายก (สวด) พระยาพหลเทพ (ขวัญ) และเจ้าพระพุฒ (ตวนผอ) ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าเวียดนามยาล็องที่เมืองเว้ เดือนสิงหาคมพระเจ้าเวียดนามพระราชทานเงินทอง ผ้าแพร อิแปะ 5,000 ตะโนด[1]

ฝ่ายเจ้าพระยายมราช (น้อย) รอคอยหนังสือตอบอยู่ที่เมืองอุดงบันทายเพชรตลอดฤดูแล้ง ทั้งเจ้าเมืองไซ่ง่อนและนักองค์จันทร์ไม่มีการตอบรับ จึงคิดว่าหากเข้าถึงฤดูน้ำหลาก ฝ่ายญวนจะสามารถยกทัพเรือขึ้นมาช่วยนักองค์จันทร์กลับคืนมาได้สะดวก ที่ชัยภูมิของทัพสยามนั้นเสียเปรียบ เสบียงอาหารก็หมดสิ้นลงทุกวัน เจ้าพระยายมราชจึงปรึกษากันกับนักองค์สงวน นักองค์อิ่ม และนักองค์ด้วง ว่าความผิดของนักองค์จันทร์นั้นเป็นโทษกบฏโดยตรง เจ้าชายทั้งสามแจ้งว่ายินยอมทำตามคำสั่งของเจ้าพระยายมราชทุกประการ เจ้าพระยายมราชจึงมีคำสั่งให้เผาทำลายเมืองอุดงบันทายเพชร เมืองพนมเปญ และเมืองกำพงหลวงด้วยกันทั้งสามเมือง[1] เพื่อไม่ให้เป็นที่มั่นของศัตรู เมืองอุดงซึ่งเป็นราชธานีของอาณาจักรเขมรอุดงมาเป็นระยะเวลาประมาณสองร้อยปีจึงถูกเผาทำลายลงในครั้งนี้ จากนั้นจึงอพยพกวาดต้อนชาวเขมรเข้าไปยังเมืองพระตะบอง ให้พระยารองเมืองฯ และพระยายมราช (ควร) รอฟังข่าวนักองค์จันทร์อยู่ที่เมืองบันทายเพชร เจ้าพระยายมราชนำเจ้าชายเขมรทั้งสาม คือนักองค์สงวน นักองค์อิ่ม และนักองค์ด้วงไปยังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯโปรดฯพระราชทานที่อยู่เดิมของนักองค์เองที่วังเจ้าเขมรให้เป็นที่ประทับ